วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทที่ 2


บทที่ 2
แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
        1. ความหมายของหนังสือ
ปรียา ไชยสมคุณ(2546:44) กล่าวว่า หนังสือคือสิ่งตีพิมพ์ประเภทหนึ่งที่ผู้เขียน เขียนขึ้นจากความรู้ ความคิด ประสบการณ์ ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าของตนเองแล้วบันทึกไว้เป็นมรดกทางปัญญาเพื่อให้เกิดแก่บุคคลและสังคมต่อไป  
  
ทิพวรรณ หอมพูลและคณะ(2542:14) กล่าวว่า หนังสือ หมายถึง ทรัพย์สินทางปัญญาของโลกซึ่งมนุษย์สร้างขึ้น โดยการนำเอาความคิด ความรู้และประสบการณ์มาประมวลเข้าด้วยกันจัดเป็นหมวดหมู่หรือเป็นเรื่องถ่ายทอดออกสู่ผู้อื่นโดยใช้ตัวอักษรประกอบเป็นถ้อยคำ สำนวน โวหารหรือภาษาเป็นสื่อ ช่วยให้มนุษย์เกิดความรู้ความเข้าใจสามารถรับรู้สืบทอดต่อๆกันไป

อำไพวรรณ ทัพเป็นไทย(2549:28)กล่าวว่า หนังสือ คือสิ่งพิมพ์ที่เข้าเล่มและเย็บอย่างถาวร มีส่วนประกอบสมบูรณ์ 

สุนีย์ เลิศแสวงกิจและพิศิษฐ์ กาญจนพิมาย(2546:36)กล่าวว่า หนังสือคือ ทรัพยากรสารนิเทศประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ทำการบันทึกความรู้ ความคิด ประสบการณ์ของมนุษย์ ถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษร จัดพิมพ์เป็นเล่ม มีคุณค่าถาวร ในเรื่องหนึ่งๆอาจมีเล่มเดียวหรือหลายเล่มจบ


2. ความสำคัญของการอ่านหนังสือ
                การอ่าน  หมายถึง การแปลความหมายของตัวอักษรที่อ่านออกมาเป็นความรู้ความคิดและเกิดความเข้าใจเรื่องราวที่อ่านตรงกับเรื่อราวที่ผู้เขียนเขียน  ผู้อ่านสามารถนำความรู้  ความคิด หรือสาระจากเรื่องราวที่อ่านไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้  การอ่านจึงมีความสำคัญ  ดังนี้
 1)การอ่านเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องอ่านหนังสือเพื่อการศึกษาหาความรู้ด้านต่าง ๆ
 2)การอ่านเป็นเครื่องมือช่วยให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เพราะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอ่านไปพัฒนางานของตนได้
 3) การอ่านเป็นเครื่องมือสืบทอดทางวัฒนธรรมของคนรุ่นต่อ ๆ ไป
 4)การอ่านเป็นวิธีการส่งเสริมให้คนมีความคิดอ่านและฉลาดรอบรู้ เพราะประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านเมื่อเก็บสะสมเพิ่มพูนนานวันเข้า ก็จะทำให้เกิดความคิด เกิดสติปัญญา เป็นคนฉลาดรอบรู้ได้
 5)การอ่านเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินบันเทิงใจ เป็นวิธีหนึ่งในการแสวงหาความสุขให้กับตนเองที่ง่ายที่สุด และได้ประโยชน์คุ้มค่าที่สุด
 6)การอ่านเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งด้านจิตใจและบุคลิกภาพ เพราะเมื่ออ่านมากย่อมรู้มาก สามารถนำความรู้ไปใช่ในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข                                                                                               
7)  การอ่านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบการเมือง การปกครอง ศาสนา ประวัติศาสตร์ และสังคม
8)  การอ่านเป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนาระบบการสื่อสารและการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์



3. ประโยชน์ของการอ่านหนังสือ
การอ่านหนังสือนั้นมีประโยชน์ต่อชีวิตคนเราอย่างยิ่ง จินตนาใบกาซูยี (2543 : 23)  ได้สรุปบทบรรยายของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือว่า 
1)  การอ่านหนังสือทำให้ได้เนื้อหาสาระความรู้มากกว่าการศึกษาหาความรู้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฟัง
2)  ผู้อ่านสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่มีการจำกัดเวลาและสถานที่ สามารถนำไปไหนมาไหนได้
3)  หนังสือเก็บได้นานกว่าสื่ออย่างอื่นซึ่งมักมีอายุการใช้งานจำกัด
4)  ผู้อ่านสามารถฝึกการคิดและสร้างจินตนาการได้เองในขณะอ่าน
5)  การอ่านส่งเสริมให้มีสมองดี มีสมาธินานกว่าและมากกว่าสื่ออย่างอื่น ทั้งนี้ เพราะขณะอ่าน จิตใจจะต้องมุ่งมั่นอยู่กับข้อความ พินิจพิเคราะห์ข้อความนั้นๆ
6)  ผู้อ่านเป็นผู้กำหนดการอ่านได้ด้วยตนเอง จะอ่านคร่าวๆ อ่านละเอียด อ่านข้ามหรืออ่านทุกตัวอักษรเป็นไปตามใจของผู้อ่านหรือจะเลือกอ่านเล่มไหนก็ ได้ เพราะหนังสือมีมาก  สามารถเลือกอ่านเองได้
7)  หนังสือมีหลากหลายรูปแบบและราคาถูกกว่าสื่ออย่างอื่น จึงทำให้สมองของผู้อ่านเปิดกว้าง สร้างแนวคิดและทัศนคติได้มากกว่า ทำให้ผู้อ่านไม่ติดยึดอยู่กับแนวคิดใดๆโดยเฉพาะ
8)  ผู้อ่านเกิดความคิดเห็นได้ด้วยตนเองวินิจฉัยเนื้อหาสาระได้ด้วยตนเอง รวมทั้งหนังสือบางเล่มสามารถนำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลดี


4.ประเภทของหนังสือ

    ความสนใจของผู้คนที่มีต่อหนังสือได้มีมากขึ้นไปตามความเจริญของสังคมและบ้านเมือง จนมีคำกล่าวกันว่า หนังสือเป็นเครื่องวัดความเจริญของสังคมอย่างหนึ่ง ความสนใจได้แตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวางทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าหาความรู้และทำให้เกิดหนังสือประเภทต่างๆขึ้นมามากมาย เช่น

วารสาร(Periodical)
           
  เป็นหนังสือที่มีชื่อหนังสือคงที่ จัดพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตามลำดับเรื่อยไปเช่น หนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกวันจะมีชื่อหนังสือชื่อเดียวกันตลอดได้แก่ สยามรัฐ ไทยรัฐ เดลินิวส์หรือหนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ ทุกเดือนหรือทุกระยะเวลาต่างๆ มีชื่อหนังสือเหมือนกัน เช่น สตรีสาร วิทยาจารย์ หลักไท หนังสือเหล่านี้เป็นวารสาร หนังสือประเภทวารสารยังอาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้เป็นหนังสือพิมพ์(newspaper)และนิตยสาร(magazine)

หนังสือพิมพ์ (newspaper)

    เป็นหนังสือที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ข่าวสารปัจจุบันแก่ผู้อ่าน ส่วนนิตยสารนั้นมุ่งที่จะให้ความรู้ ความบันเทิงเป็นสิ่งสำคัญ การที่วัตถุประสงค์ในการจัดทำแตกต่างกัน ลักษณะและการใช้งานของหนังสือและลักษณะรูปร่างของหนังสือจึงย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย จะเห็นว่า หนังสือพิมพ์นั้นพิมพ์บนกระดาษแผ่นใหญ่เรียงซ้อนกัน พับเป็นเล่มโดยไม่เย็บเล่มและไม่มีปก ส่วนนิตยสารนั้นมักมีปกที่พิมพ์สีสันสวยงามเย็บเป็นเล่มและเจียนเล่มเรียบร้อย ขนาดของเล่มเล็กกว่าหนังสือพิมพ์ การที่หนังสือประเภทใดจะมีรูปเล่มและขนาดอย่างใด ย่อมแล้วแต่ลักษณะและวัตถุประสงค์การใช้งานของหนังสือเล่มนั้นๆเป็นสำคัญ รูปเล่มและขนาดเล่มจะเป็นตัวกำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตด้วยจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเชื่อมโยงกันไปทั้งสิ้น           
   ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ต้องการทราบข่าวอันเป็นปัจจุบันและจะสนใจในข่าว ไม่พิถีพิถันมากนักในเรื่องความประณีตในการจัดพิมพ์และการทำเล่ม โดยปกติหนังสือพิมพ์จะพิมพ์วันต่อวัน ความรวดเร็วในการผลิตและการกระจายหนังสือไปให้ถึงมือผู้อ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญจึงต้องมีระบบการรวบรวมข่าวให้ได้รวดเร็วและครอบคลุมความสนใจของผู้อ่านให้ทั่วถึง ปริมาณผู้อ่านมีมากจึงต้องจัดพิมพ์ออกเป็นจำนวนมากต่อวัน การเรียงพิมพ์จะเรียงเป็นคอลัมน์เพราะสะดวกในการนำมาจัดหน้า หน้าหนึ่งๆ ในหนังสือพิมพ์ประกอบด้วยเรื่องหลายเรื่องพร้อมรูปภาพประกอบในหน้าเดียวกัน โดยเฉพาะหน้าแรกเป็นหน้าที่ผู้อ่านจะตัดสินใจเลือกซื้อจึงควรเลือกข่าวสำคัญๆหลายข่าวลงพิมพ์รวมไว้ในหน้าแรก โดยเลือกข่าวสำคัญที่สุดพิมพ์เป็นหัวข่าวใหญ่และข่าวรองลงไปตามลำดับเพื่อจะได้ดึงดูดความสนใจจากคนหลายกลุ่ม การพิมพ์ต้องพิมพ์ด้วยความรวดเร็วจึงควรมีรูปเล่มที่สามารถผลิตได้ด้วย ความรวดเร็ว เมื่อพิมพ์และพับเสร็จออกจาก แท่นพิมพ์ก็จัดส่งให้ถึงมือผู้อ่านได้เร็วที่สุด  

   ผู้อ่านสามารถอ่านได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่ว่าจะกำลังดื่มกาแฟ เข้าห้องน้ำ โดยสารรถหรือเรือ แม้มีเวลาอ่านเพียงเล็กน้อย ถ้ามีข่าวที่ตนสนใจก็จะอ่านก่อน หนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งๆ ประกอบด้วยข่าวหลายข่าวเรื่องหลายเรื่องกระจายไปทั้งหน้า ผู้อ่านจะดูไปตามหัวข่าวทั้งหมดแล้วจึงตัดสินใจว่าสนใจเรื่องใดเป็นอันดับแรกก็จะอ่านเรื่องนั้นก่อน จบแล้วก็จะอ่านเรื่องที่สนใจรองลงไปตามลำดับ ไม่ได้อ่านหมดทุกเรื่องอ่านเพียงแต่เรื่องที่ตนสนใจ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอยู่ในความสนใจเพียงวันเดียวหรือไม่ถึงวันจึงมีราคาอยู่เพียงวันเดียว เมื่อพ้นวันไปแล้วก็หมดราคาจนเรียกได้ว่า สูญค่า เพราะราคาหนังสือพิมพ์นั้นจะต่ำกว่าราคาของกระดาษเปล่าที่ยังมิได้พิมพ์ต้องรวบรวมขายกันตามน้ำหนักเป็นกิโลกรัม กระดาษที่ใช้พิมพ์จึงใช้กระดาษปรู๊ฟหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ เพราะราคาถูกไม่ต้องมีความทนทาน
นิตยสาร(magazine)
 สำหรับนิตยสารนั้น ผู้ซื้อจะมีความพิถีพิถันมากกว่าซื้อหนังสือพิมพ์ นิตยสารจึงมีปกที่พิมพ์ภาพสวยงาม อายุการใช้งานมีระยะเวลานานกว่าหนังสือพิมพ์ซึ่งจะมีอายุอย่างน้อยเท่ากับระยะเวลาออกนิตยสารนั้นๆ นิตยสารจึงยังคงคุณค่านานกว่าหนังสือพิมพ์แม้เมื่อพ้นเวลาใช้งานแล้วก็ยังพอมีราคาอยู่บ้าง
 ผู้อ่านนิตยสารต้องมีความสนใจและมีเวลาว่างพอสมควรจึงจะหยิบอ่านโดยจะพลิกดูหน้าต่างๆไปก่อนตลอดเล่มหรือเกือบตลอดเล่มว่านิตยสารเล่มนั้นมีเรื่องใดบ้างจะไม่อ่านเรียงลำดับกันไปจากหน้าแรกเรื่องแรก แต่จะเลือกอ่านเรื่องที่ถูกใจก่อนเป็นเรื่องๆไป ปกติผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหมดทุกเรื่องในเล่ม
 หนังสือเล่ม(book)                                                                      

 เป็นประเภทใหญ่ของหนังสืออีกประเภทหนึ่ง อาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้หลายวิธี คือ แบ่งตามลักษณะของผู้อ่าน เช่น หนังสือเด็ก หนังสือผู้ใหญ่หรือแบ่งตามเนื้อหาสาระ เช่น หนังสือสารคดี หนังสือบันเทิงคดี ซึ่งแต่ละประเภทแบ่งย่อยออกไปได้อีก เช่น สารคดีอาจแบ่งเป็นแบบเรียนในระดับการศึกษาต่างๆ คู่มือครู แบบฝึกหัดตำราทางวิชาการ หนังสืออ้างอิง บันเทิงคดีก็แบ่งเป็น นวนิยาย กวีนิพนธ์ หนังสือเด็กก็อาจแยกออกเป็น หนังสือภาพ หนังสือการ์ตูน นิยาย หนังสือแต่ละประเภทก็มีลักษณะรูปเล่ม เฉพาะที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของหนังสือประเภทนั้นๆ

  การผลิตหนังสือแต่ละประเภทจึงมีวิธีการและอุปกรณ์ที่เหมาะสมแก่การผลิตหนังสือประเภทนั้นๆ ซึ่งก็ย่อมแตกต่างกันออกไปแต่ละประเภท การซื้อหนังสือเล่มผู้ซื้อจะเลือกซื้อพิถีพิถันมาก เช่น เลือกเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจ เลือกผู้ประพันธ์ที่ตนชอบ พิถีพิถันในคุณภาพของการพิมพ์ การทำเล่มและราคา เมื่อซื้อเล่มใดแล้วก็จะอ่านจากหน้าแรกเรียงลำดับจนจบเล่มเว้นแต่ซื้อมาผิด อ่านไปแล้วไม่ชอบก็ไม่อ่านต่อหรืออาจฝืนอ่านไปจนจบเล่ม หนังสือเล่มมักไม่สูญค่าอ่านแล้วก็ยังเก็บไว้อ่านได้อีกในภายหลังหรือให้ผู้อื่นอ่านต่อได้ ในแต่ละประเภทย่อยของหนังสือเล่มต่างๆก็มีลักษณะเฉพาะ เช่น หนังสือสำหรับเด็กก็มักมีภาพมากและใช้ตัวหนังสือตัวโต ส่วนหนังสือแบบฝึกหัดที่นักเรียนต้องเขียนคำตอบในเล่ม มักเป็นหนังสือปกอ่อน ใช้กระดาษไม่ต้องดีมากพอให้เขียนตอบได้ ไม่ซึมหมึก เพราะใช้เขียนกันครั้งเดียว ราคาไม่แพง เพื่อให้นักเรียนสามารถซื้อได้

หนังสืออ้างอิง

 เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษอีกแบบหนึ่งที่ผู้อ่านจะเลือกอ่านค้นคว้าเอาเฉพาะเรื่องที่ต้องการ เช่น หนังสือพจนานุกรมจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง ผู้ซื้อจะค้นดูศัพท์เฉพาะคำที่ต้องการทราบความหมายโดยจะเปิดดูหน้าและตำแหน่งตรงที่มีศัพท์ที่ต้องการจะค้นแล้วอ่านดูว่ามีคำแปลว่าอย่างใด เข้าใจแล้วก็ปิดเล่มหนังสือเล่มหนึ่งๆได้อ่านจริงๆไม่กี่บรรทัดไม่กี่หน้า หากเป็นพจนานุกรมฉบับกระเป๋าก็จะต้องผลิตให้มีขนาดเล็กสามารถพกติดตัวไปได้สะดวก สามารถค้นดูศัพท์ได้ทุกเวลาที่ต้องการ ขนาดของเล่มหนังสือจะเป็นสิ่งกำหนดตัวพิมพ์ ความหนาของแผ่นกระดาษและชนิดของกระดาษที่จะพิมพ์ เพื่อให้หนังสือมีขนาดพอเหมาะที่จะบรรจุศัพท์ต่างๆลงในเล่มให้ครอบคลุมได้กว้างขวางที่ต้องการและให้ได้ขนาดกว้าง ยาวและหนาพอที่จะพกในกระเป๋าเสื้อของผู้อ่านได้                                           


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น